แชร์

การวัดความดันด้วยตนเอง

อัพเดทล่าสุด: 21 พ.ย. 2024
48 ผู้เข้าชม

     การวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านทำได้ง่าย ๆ โดยการใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพาที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน วัดบริเวณต้นแขน ไม่แนะนำให้ใช้เครื่องวัดบริเวณข้อมือ ยกเว้นกรณีที่การวัดที่ต้นแขนทำได้ยาก เช่น ผู้ป่วยที่อ้วนมาก เป็นต้น การวัดความดันโลหิตที่บ้าน มีส่วนช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยหาผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่บ้าน ช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ควบคุมความดันโลหิตได้ ขั้นตอนการวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง มีดังนี้

1. ควรเลือกใช้ arm cuff หรือแถบวัดขนาดที่เหมาะสมกับขนาดแขน คือ ส่วนที่เป็นถุงลมควรจะครอบคลุมรอบได้ประมาณร้อยละ 80 ของเส้นรอบแขน
2. เตรียมเครื่องวัดความดัน ตรวจสอบว่าเครื่องทำงานปกติหรือไม่ 
3. นั่งพักบนเก้าอี้ในห้องที่เงียบสงบอย่างน้อย 5 นาที โดยนั่งหลังพิงพนัก เพื่อไม่ให้เกร็งหลัง เท้า 2 ข้างวางราบกับพื้น ห้ามนั่งไขว่ห้าง 
4. ไม่พูดคุยทั้งก่อนหน้าและขณะวัดความดันโลหิต 
5. วางแขนข้างที่จะใช้วัดความดันบนโต๊ะโดยให้บริเวณที่จะพันแถบวัดอยู่ระดับเดียวกับระดับหัวใจ 
6. ไม่เกร็งแขนหรือกำมือในขณะวัดความดัน
7. ในแต่ละครั้งที่ทำการวัด ควรวัดซ้ำอีกครั้งห่างกัน 1 นาที 
8. ควรจดบันทึกค่าความดันโลหิตไว้ เพื่อเป็นข้อมูลในปรึกษากับบุคลากรทางการแพทย์

ผลค่าความดัน

ค่าความดันปกติของแต่ละช่วงอายุ

  • เด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี ค่าความดันโลหิตไม่ควรเกิน120/80 มิลลิเมตรปรอท หรือไม่เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ไทล์ เมื่อเทียบกับเด็กที่อายุ เพศ และส่วนสูงใกล้เคียงกัน
  • เด็กอายุ 13-17 ปี ค่าความดันโลหิตไม่ควรเกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท
  • ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป ค่าความดันโลหิตไม่ควรเกิน 130/85 มิลลิเมตรปรอท

ความดันโลหิตสูง
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมักไม่แสดงอาการ แต่อาการที่อาจพบได้ เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะตุบ ๆ คล้ายไมเกรน อ่อนเพลีย ใจสั่น เจ็บหน้าอก นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย ตาพร่า เป็นต้น 

     เมื่อวัดค่าความดันโลหิตแล้วพบว่ามีค่าสูงกว่าค่าปกติ ควรนั่งพักและวัดซ้ำอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าค่าความดันผิดปกติจริง ไม่ได้เกิดจากความเหนื่อยหรือตื่นเต้น หากวัดซ้ำแล้วยังพบว่าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ ตามแนวทางของสมาคมโรคความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2562 แนะนำแนวทางการจัดการกับภาวะความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่ดังนี้

 1. เริ่มปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต (lifestyle modification) ในผู้ใหญ่ที่มีความดันโลหิตเข้าเกณฑ์เกือบสูง (high normal blood pressure) คือ ความดันตัวบนมีค่าตั้งแต่ 130 มิลลิเมตรปรอท หรือ ความดันตัวล่างมีค่าตั้งแต่ 85 มิลลิเมตรปรอท ขึ้นไป 
2. ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเริ่มยาลดความดันโลหิตเมื่อความดันตัวบนมีค่าตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอท หรือ ความดันตัวล่างมีค่าตั้งแต่ 90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป หรือมีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 

ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้ปรึกษาแพทย์เมื่อพบว่าค่าความดันโลหิตสูงกว่าค่าปกติเพื่อพิจารณาหาสาเหตุและหาแนวทางจัดการต่อไป
 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ